
คติความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของไทยนั้นมีมาช้านาน ทั้งการนับถือผีบรรพบุรุษตามจารีตโบราณหรือนับถือเทพเจ้าตามธรรมเนียมของศาสนาต่างๆ
“พระสยามเทวาธิราช” คือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนไทยส่วนใหญ่เชื่อกันว่าเป็นเทวดาที่มีหน้าที่คอยปกปักษ์รักษาบ้านเมืองให้มีความสงบสุขร่มเย็น แต่เมื่อไม่นานมานี้มีกระแสทางสังคมโซเชียลว่าแท้ที่จริงแล้ว “พระสยามเทวาธิราช” ไม่ใช่เทวดาอย่างที่เชื่อกัน แต่เป็นเพียง “ผี” ที่ต้องมีพิธีกรรมเซ่นสังเวย…
เมื่อพูดถึงผีเพื่อนๆ อาจคิดไปไกลถึงบรรดาสัมภเวสี เปรต อสุรกาย ในภพภูมิต่างๆ ตามหลักพระพุทธศาสนา แต่เมื่อพิเคราะห์ให้ดีแล้ว ผีในที่นี้อาจหมายถึงผีตามความเชื่อของคนไทยที่มีมาเนิ่นนาน ดังที่ปรากฏในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง หลักที่ 1 ว่า “มีพระขพุงผี เทพดาในเขาอันนั้นเป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมืองนี้ ขุนผู้ใดถือเมืองสุโขไทนี้แล้ ไหว้ดีพลีถูก เมืองนี้เที่ยง เมืองนี้ดี ผิไหว้บ่ดี พลีบ่ถูก ผีในเขาอันนั้นบ่คุ้มบ่เกรง เมืองนี้หาย” จะเห็นได้ว่าผีในที่นี้หมายถึงเทวดาหรือเทพารักษ์นั่นเอง
“พระสยามเทวาธิราช” แปลว่า “เทวดาประจำเมืองสยาม” เป็นเทวรูปยืนขนาดสูง 8 นิ้ว ทรงเครื่องกษัตริยาธิราช ทรงฉลองพระองค์อย่างเครื่องของเทพารักษ์ มีมงกุฎเป็นเครื่องศิราภรณ์ พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นจีบดัชนีเสมอพระอุระในท่าประทานพร หล่อขึ้นด้วยทองคำทั้งองค์ในสมัยรัชกาลที่ 4
เนื่องด้วยในสมัยนั้นเป็นช่วงที่เหล่าประเทศมหาอำนาจชาติตะวันตกออกล่าอาณานิคมกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งประเทศไทยหรือในขณะนั้นรู้จักกันในนาม “สยาม” ก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษที่พยายามจะยึดครองสยามให้ได้ แต่เมื่อพอถึงเวลาจวนตัวก็เกิดเหตุพลิกผันทำให้เราผ่านพ้นวิกฤตต่างๆ มาได้อย่างน่าอัศจรรย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงดำริว่า “สยามมีเหตุการณ์ที่เกือบจะเสียอิสรภาพมาหลายครั้ง แต่บังเอิญก็มีเหตุการณ์รอดมาได้ คงจะมีเทพยดาที่ศักดิ์สิทธิ์คอยอภิบาลรักษาอยู่ สมควรที่จะทำรูปเทวดาองค์นั้นขึ้นเพื่อสักการะบูชา“
“พระสยามเทวาธิราช” สถิตอยู่ในวิมานเรือนแก้วทำด้วยไม้จันทน์ลักษณะเป็นแบบวิมานเก๋งจีน มีคำจารึกเป็นภาษาจีนที่ผนังเบื้องหลังแปลว่า “ที่สถิตแห่งเทพยดาผู้รักษาประเทศสยาม” (暹國顯靈神位敬奉) ปัจจุบันวิมานเรือนแก้วนี้ประดิษฐานอยู่ในมุขกลางของพระวิมานไม้แกะสลักปิดทองฝังมุก ตั้งอยู่เหนือลับแลบังพระทวารเทวราชมเหศวร์ ตอนกลางของพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง

นอกจาก “พระสยามเทวาธิราช” แล้ว ในพระวิมานไม้แกะสลักปิดทองฝังมุกนี้ยังประดิษฐานเทพเจ้าของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูไว้อีกด้วย คือ ที่มุขกลางประดิษฐานพระสยามเทวาธิราชไว้เบื้องหลัง เบื้องหน้าตั้งรูปพระแม่พรหมณีซึ่งเป็นปางหนึ่งของพระแม่สุรัสวดี เทพีแห่งศิลปะวิทยา มุขตะวันออกของพระวิมานตั้งรูปพระอิศวรและพระอุมา มุขตะวันตกของพระวิมานตั้งรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ
โดยในสมัยรัชกาลที่ 4 จะทรงถวายเครื่องสังเวยเป็นราชสักการะประจำวัน เครื่องสังเวยที่ถวายเป็นประจำนั้นจะถวายเฉพาะวันอังคารและวันเสาร์ก่อนเวลาเพล โดยจะมีเจ้าพนักงานฝ่ายพระราชฐานชั้นในเป็นผู้เชิญเครื่องตั้งสังเวยบูชา
เครื่องสังเวยนี้ประกอบด้วยข้าวสุก 1 ถ้วย หมูนึ่ง 1 ชิ้นพร้อมด้วยน้ำพริกเผา ปลานึ่ง 1 ตัวพร้อมด้วยน้ำจิ้ม ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว กล้วยน้ำว้า มะพร้าวอ่อน ผลไม้ตามฤดูกาล 2 อย่าง น้ำสะอาด 1 ถ้วย และทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีพิธีสังเวยเทพยดาประจำปีในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันขึ้นปีใหม่ไทยในสมัยนั้น
จะเห็นได้ว่าเครื่องสังเวยเหล่านี้ก็เป็นเพียงเครื่องสังเวยที่ชาวบ้านทั่วไปใช้สังเวยเทวดา เจ้าที่ หรือเซ่นไหว้บรรพบุรุษในวันตรุษวันสารทตามประเพณี ไม่มีอะไรแปลกประหลาดพิสดารอย่างที่เข้าใจผิดกัน
เรียบเรียงโดย ดีจ้าดอทเน็ต